ไฟไหม้กลางใจเมือง 2 ครั้งในเดือนเดียว : ใกล้ตัวซะเหลือเกิน

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผมมาพบกับท่านอีกครั้ง โดยคิดว่าพยายามจะสรรหา เรื่องเบาๆมาถ่ายทอด มาพูดคุยกันบ้าง เพราะทุกครั้งที่เรา “ Zoom In ” จะมีเรื่องราวของภัยพิบัติ หรือ เพลิงไหม้ มาเป็นกรณีศึกษา น่าเสียดายครับที่เราไม่ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องเบาๆกัน

เพราะช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น มีเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารในกรุงเทพมหานคร ให้กล่าวขวัญถึงกันอีก ถึง 2 อาคารด้วยกัน ผมเชื่อเหลือเกินว่า คงมีท่านผู้อ่านไม่น้อย ที่ทำงานหรือพักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ 2 อาคารนี้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ท่านคิดเหมือนกันมั้ยครับว่า ..มันใกล้ตัวมาก และพร้อมจะเกิดขึ้นได้เสมอ  หากไม่เตรียมการระมัดระวังป้องกันไว้ก่อนแล้วละก็  ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน คงมากมายจนกลายเป็นโศกนาฎกรรมขึ้นได้ อย่างคำเตือนของผู้หลักผู้ใหญ่ที่บอกต่อกันมาว่า “โจรปล้นบ้าน 10 ครั้งยังไม่เสียหายเท่าไฟไหม้เพียงครั้งเดียว”

อาคารแรกคือ FICO TOWER ริมถนนอโศกมนตรี หรือซอยอโศก เกิดเพลิงไหม้บ่ายวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2555 เป็นอาคารสำนักงานสูง 13 ชั้น บริเวณใกล้เคียงมีแต่อาคารสูงประกอบกับช่องทางจราจรแคบ จึงทำให้ยากลำบากในการเข้าไปฉีดน้ำสกัดเพลิง เจ้าหน้าที่จะใช้รถกระเช้าเพื่อให้สามารถฉีดน้ำสกัดต้นเพลิงให้ได้เร็วที่สุดแต่ปรากฏว่า กระเช้าสูงไม่พอ  ต้องประสานรถกระเช้าจากพื้นที่อื่นซึ่งมีความสูงมากกว่าให้มาช่วย  ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ชุดผจญเพลิง ก็ไม่สามารถเข้าไปภายในได้ทันทีเนื่องจากระบบรักษาความปลอดภัยที่ประตูทางเข้าเป็นแบบคีย์การ์ด เมื่อมีการตัดกระแสไฟฟ้าแล้วก็ไม่สามารถใช้การได้  จึงต้องขออนุญาตเจ้าของอาคาร เพื่อทำการทุบทำลายกระจกเข้าไปภายในตัวอาคาร อุปสรรคดังกล่าวทำให้เพลิงลุกลามขึ้นไปจนถึงชั้น 13 กว่าที่รถกระเช้าที่มีความสูงเพียงพอจะมาถึงและเจ้าหน้าที่ชุดผจญเพลิงจะเข้าไปฉีดสกัดเพลิงไว้ได้ก็ต้องใช้เวลานานถึง 3 ชั่วโมง 

ภายหลังเพลิงสงบ มีรายงานการสำรวจอาคารจาก วสท. ดังนี้

  1. ต้นเพลิงสันนิษฐานว่าเกิดที่ชั้น 7 ด้านทิศเหนือของอาคาร เพลิงลุกไหม้ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของชั้นที่ 7 หลังจากนั้นเพลิงไหม้ได้ลุกลามข้ามขึ้นชั้นบนโดยการถ่ายเทความร้อนทะลุผ่านผนังกระจกและโครงอลูมิเนียมที่ติดอยู่ริมอาคาร เพลิงไหม้ขยายพื้นที่มากขึ้นในชั้นที่ 8 และเพลิงไหม้ขยายพื้นที่จนครอบคลุมทั้งพื้นที่อาคารในชั้นที่ 9 สำหรับชั้นที่ 10 – 13 เพลิงไหม้ครอบคลุมพื้นที่น้อยลง คาดว่าเป็นผลจากการควบคุมเพลิงของพนักงานดับเพลิง ทำให้เพลิงไหม้ลุกลามในพื้นที่น้อยลงกว่าชั้นที่ 9 
  2. เพลิงไหม้ได้ทำลายทรัพย์สิน, เฟอร์นิเจอร์, ฝ้าเพดาน งานระบบประกอบอาคารชั้นที่ 7- 13 
  3. โครงสร้างอาคารเป็นเสาพื้น และคานคอนกรีตหล่อในที่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้เล็กน้อย ไม่มีความเสี่ยงที่อาคารจะวิบัติพังทลาย 
  4. ผนังกระจก Curtain Wall โครงอลูมิเนียมและวัสดุที่เสียหายภายในอาคาร เช่น ผังเพดาน ท่อลมแอร์ โคมไฟ อาจถูกลมพัดปลิวตกลงมา จึงควรติดตั้งนั่งร้านภายนอกอาคาร ติดตั้งไม้อัดและตาข่ายเพื่อป้องกันการตกหล่นโดยด่วน 
  5. โครงสร้างอาคารควรได้รับการตรวจสอบทดสอบอย่างละเอียดตามมาตรฐานวิศวกรรม และรับรองความแข็งแรงโดยสถาบันที่เชื่อถือได้หรือวุฒิวิศวกร ก่อนเปิดใช้งานอาคาร
  6. แม้ว่าอาคารนี้อาจซ่อมแซมดัดแปลงอาคารได้โดยไม่อยู่ในบังคับของกฎกระทรวงฉบับที่ 33 และ 47 แต่เจ้าของอาคารก็ควรตระหนักถึงผลเสีย  ควรปรับปรุงเพิ่มเติม ระบบฉีดน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ จัดทำการปิดกั้นพื้นที่ป้องกันเพลิงไหม้ข้ามชั้นอาคาร ปรับปรุงทางหนีไฟ บันไดหนีไฟและประตูหนีไฟ ปรับปรุงระบบตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ให้ได้มาตรฐานวิศวกรรมและกฎหมายฉบับล่าสุด 

อีกอาคารหนึ่ง คือ โรงแรม Grand Park Avenue เกิดช่วงเช้ามืดประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 8 มี.ค.2555  ภายในห้องจัดเลี้ยงชั้นที่ 5 ของโรงแรม ในซอยสุขุมวิท 22 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ และมีกลุ่มควันกระจายออกมาอย่างรวดเร็วและหนาทึบ กระจายไปยังชั้นอื่นๆ ทำให้มีแขกผู้ที่เข้าพักในโรงแรม พากันหนีตายอย่างอลหม่าน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย ต้องแบ่งชุดการทำงานออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งรีบฉีดน้ำสกัดเปลวเพลิงอย่างเร่งด่วน โดยใช้เวลา 20 นาที จึงควบคุมเปลวเพลิงเอาไว้ได้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งนำรถกระเช้า ขึ้นไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่บนโรมแรม ก่อนสามารถลำเลียงผู้ที่ติดอยู่บนชั้น 15 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติลงมา

เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดจำนวน 22 คน มีผู้เสียชีวิตเป็น หญิง อายุ 40 ปี และชาย อายุ 45 ปี ทั้งคู่เป็นชาวรัสเซีย โดยช่วงเกิดเหตุที่ได้นำส่งโรงพยาบาลไปนั้น ยังหมดสติอยู่ที่ชั้น 7 ของโรงแรม ทราบสาเหตุของการเสียชีวิตว่า สำลักควันไฟและสมองขาดออกซิเจน นอกจากนี้ ยังพบคราบเลือดติดอยู่ภายในโรงแรมด้วย ซึ่งคาดว่าผู้ได้รับบาดเจ็บบางส่วน ทนความร้อนและสภาพขาดอากาศหายใจไม่ไหว จนต้องทุบกระจกหลบหนีออกมา

ด้าน นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ กล่าวว่า มี 2-3 ประเด็นที่เป็นข้อสังเกตและควรให้ความใส่ใจ คือ 

  1. โรงแรมมีบันไดทางขึ้นลงหลักของโรงแรมติดอยู่กับลิฟต์และห้องจัดเลี้ยง แต่ไม่มีผนังหรือประตูกั้นบริเวณบันไดระหว่างชั้น จึงทำให้ควันไฟลอยขึ้นไปยังชั้นอื่น และกระจายไปทั่วโรงแรมอย่างรวดเร็ว จนทำให้เหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งถือว่าเป็นข้อบกพร่องของอาคารเก่าที่บันไดไม่มีประตู หรือผนังกั้นบันไดทางขึ้นหลักอยู่ มีความเสี่ยงสูงใกล้เคียงกับกรณีโศกนาฎกรรมที่โรงแรมจอมเทียน พัทยา
  2. ห้องพักแต่ละชั้นนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ฝั่ง แต่บันไดหนีไฟของโรงแรมที่มีอยู่นั้นมีอยู่เพียงฝั่งเดียว และมีลักษณะไม่ถูกต้อง เนื่องจากแคบ ส่วนห้องพักอีก 2 ด้านนั้น ไม่มีบันไดหนีไฟอยู่ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ จึงทำให้แขกที่พักอยู่ในห้องอีก 2 ฝั่ง ต้องวิ่งออกมาหาบันไดหนีไฟที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมีความห่างเกิน 10 เมตร ไม่ถูกต้องตามกฎข้อบังคับของ กทม.ปี 2544   
  3. ต้นเพลิงอยู่บริเวณห้องจัดเลี้ยงชั้นที่ 5 เพลิงไหม้วัสดุอุปกรณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ตกแต่ง รวมทั้งพรม ซึ่งติดไฟและลุกลามได้ง่าย  ขณะเกิดเหตุ ห้องจัดเลี้ยงดังกล่าวนั้นถูกปิดอยู่ไม่ได้ใช้งาน โดยเบื้องต้นทางโรงแรมได้รับแจ้งจากห้องคอนโทรลสัญญาณว่ามีเหตุเพลิงไหม้ภายในห้องดังกล่าว จึงเข้าไปตรวจสอบ และพบว่า มีกลุ่มควันเกิดขึ้นจำนวนมากเล็ดลอดออกมาจากห้อง   ส่วนความเสียหายเบื้องต้น พบว่า ห้องจัดเลี้ยงจุดเกิดเหตุนั้นเสียหายมากที่สุด นอกจากนั้น ก็บริเวณชั้น 5-6 ส่วนชั้นอื่นๆ นั้นได้รับความเสียหายไม่มากนัก


พ.ต.อ.รัฐศักดิ์ รักสลาม ผกก.สน.ทองหล่อ กล่าวถึงเจ้าของอาคาร ซึ่งต้องตกเป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี ทันที โดยกล่าวว่า คดีดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 

  1. คดีอาญา ซึ่งเบื้องต้นเป็นความผิดฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งจะต้องรอพยานหลักฐานจากหลายส่วน ทั้งนี้หากได้ผลตรวจพิสูจน์รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดส่งมาให้แล้ว ก็จะสามารถสรุปคดีได้ภายใน 3 วัน ว่าจะสามารถแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับใครได้บ้าง 
  2. คดีตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งทาง กทม.เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบว่าอาคารดังกล่าวมีการต่อเติมดัดแปลงหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบว่ามีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ เพื่อหาข้อสรุปและดำเนินคดีต่อไป 
  3. คดีแพ่ง ซึ่งตามกฎหมายนั้น โรงแรมจะต้องรับผิดชอบทางแพ่งทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เนื่องจากเหตุเพลิงไหม้เกิดภายในโรงแรม แม้จะอ้างว่าเกิดเพราะอุบัติเหตุหรือไฟฟ้าลัดวงจรก็ตาม ซึ่งผู้เสียหายคือญาติของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจะต้องประสานกับโรงแรมเพื่อเจรจาในเรื่องการเยียวยา ชดใช้ค่าเสียหาย ว่าจะมีส่วนในการรับผิดชอบอย่างไรบ้าง แต่หากไม่สามารถเจรจาได้ ผู้เสียหายก็สามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

จากทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นอาคารสูงที่เป็นที่รู้จัก มีผู้คนเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก แถมยังอยู่ใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง ยังโชคดีที่เกิดเหตุในวันหยุด ไม่อย่างนั้นเพลิงที่ไหม้ยาวนานกว่า 3 ชม.ในวันทำงาน อาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากมายกว่านี้หลายเท่านัก  อย่างไรก็ตามจากทั้ง 2 เหตุการณ์ทำให้เกิดความเสียหายมากมาย มีผู้เสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บ ทรัพย์สินที่ถูกเผาผลาญไปกับเพลิง เจ้าของอาคารก็ต้องถูกดำเนินคดี อาคารทั้ง 2 แห่งถูกโจษขานและจดจำเข้าไปในสมองของผู้คนทั้งไทยและเทศ ทันทีว่า ไม่มีความปลอดภัย

ผมย้ำอยู่เสมอครับว่า  การประหยัดงบประมาณด้านความปลอดภัย และการแก้ไขดัดแปลง จนลดความปลอดภัย เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์  เป็นการ “ ได้ไม่คุ้มเสีย ”อย่างยิ่ง ไม่คุ้มกันกับตัวเงินที่ตัดงบประมาณออกไป หรือสิ่งที่ได้มาจากการดัดแปลง บทเรียนที่ผ่านมา มีอยู่มากมาย  อย่าให้อาคารที่เรามีส่วนเกี่ยวข้อง หรือใช้งานอยู่ประจำ ต้องประสบอันตรายจากเหตุเพลิงไหม้  อย่างที่เรียกว่า “เจอกับตัวเอง” จะดีกว่ามั้ยครับ..

:  สุทธิพันธ์ วรรณวินเวศร์ :  บริษัท บี.เอฟ.เอ็ม. จำกัด  suttipun@bfm.co.th 

ขอขอบพระคุณ :
- วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
- Web site ของหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก, เดลินิวส์, ผู้จัดการ และ ข่าวสด